โรคกระดูกสันหลังคด (Scoliosis)

เป็นโรคที่ทำให้กระดูกสันหลังคด เบี้ยว เอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง ดูลักษณะไหล่ทั้งสองข้างไม่เท่ากัน ซึ่งถ้าคดมากจะทำให้เหนื่อยง่าย ปวดหลัง รู้สึกขาสองข้างเดินลงน้ำหนักไม่เท่ากัน โรคกระดูกสันหลังคดเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุซึ่งสามารถแยกประเภทของสาเหตุได้ดังนี้

  • กระดูกสันหลังคดแต่กำเนิด (Congenital scoliosis) เป็นกระดูกสันหลังคดที่เกิดขึ้นจากการที่กระดูกสันหลังถูกสร้างขึ้นผิดปกติตั้งแต่ยังเป็นตัวอ่อนในมดลูก
  • กระดูกสันหลังคดจากโรคประสาทกล้ามเนื้อ (Neuromuscular scoliosis) เป็นโรคที่กระดูกสันหลังคดจากความผิดปกติของสมอง ส่งผลกล้ามเนื้อเกร็งไม่เท่ากันทั้งสองข้าง นอกจากนี้ยังพบความผิดปกติของร่างกายส่วนอื่นร่วมด้วย เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคหัวใจ โรคปอด เป็นต้น
  • กระดูกสันหลังคดโดยไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic scoliosis) เป็นสาเหตุที่พบได้มากที่สุด มักพบในช่วงวัยเด็กจนถึงวัยรุ่น โดยผลจากการตรวจร่างกายต่างๆ ไม่พบสาเหตุที่ทำให้เกิดกระดูกสันหลังคดได้
  • กระดูกสันหลังคดจากอุบัติเหตุต่อกระดูกสันหลังโดยตรง

อาการ

โดยทั่วไปของโรคกระดูกสันหลังคดมักไม่แสดงอาการในผู้ที่กระดูกสันหลังไม่คดมาก แต่จะสังเกตเห็นว่าผู้ป่วยจะมีไหล่ทั้งสองข้างสูง-ต่ำไม่เท่ากันเมื่อยืนตัวตรง แผ่นหลังทั้งสองข้างนูนไม่เท่ากัน สะโพกสูง-ต่ำไม่เท่ากัน ขณะเดินหรือยืนจะรู้สึกว่านํ้าหนักลงขาทั้งสองข้างไม่เท่ากัน เป็นต้น ในกรณีของผู้ที่เป็นกระดูกสันหลังคดมากๆ แล้วนั้นจะมีอาการหอบเหนื่อยง่ายกว่าปกติจากช่องว่างในปอดที่แคบลง หายใจไม่เต็มอิ่ม ปวดหลังตลอดเวลา เป็นต้น

การตรวจว่าเป็นโรคกระดูกสันหลังคด

วิธีการตรวจที่ทำได้เองที่บ้านคือ การให้ผู้ป่วยยืนตัวตรงและก้มหลังลงใช้มือแตะปลายเท้า ซึ่งผู้ที่เป็นโรคกระดูกสันหลังคดนั้นเมื่อก้มลงไปแล้วจะพบว่าแผ่นหลังซีกซ้ายและขวาสูงตํ่าไม่เท่ากัน

การรักษา

โรคกระดูกสันหลังคดนั้นเมื่อเป็นแล้วไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ การรักษานั้นจะเน้นไปที่ไม่ให้กระดูกสันหลังคดมากขึ้น การรักษาทางกายภาพบำบัดนั้นจะมุ่งเน้นไปที่การเสริมสร้างกล้ามเนื้อหลังให้แข็งแรงเพื่อลดความเสี่ยงที่ทำให้กระดูกสันหลังคดมากขึ้น นอกจากนี้ใช้การกระตุ้นไฟฟ้าเพื่อกระตุ้นกล้ามเนื้อข้างที่อ่อนแรงให้มีความแข็งแรงมากขึ้น และการดึงหลัง(traction) เป็นต้น ในกรณีที่กระดูกสันหลังคดมากขึ้นจนรบกวนการใช้ชีวิต หรือคดมากจนเสี่ยงอันตรายต่ออวัยวะภายในแพทย์จะพิจารณาการผ่าตัดต่อไป

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เรนโบว์ อโรคายา (Rainbow Arokaya)

Leave a Comment

Start typing and press Enter to search