ข้อเท้าแพลง (Ankle sprain)

ข้อเท้าแพลง (ANKLE SPRAIN)

ข้อเท้าแพลงเป็นอาการที่สามารถเกิดได้กับทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในช่วงอายุใดก็ตาม สาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากอุบัติเหตุ เช่น การเดินสะดุดหกล้ม การใส่ส้นสูงแล้วพลิก เล่นกีฬาปะทะกัน หรืออุบัติเหตุทางรถยนต์ เป็นต้น โดยมักจากมีการบิด หมุน หรือพลิกของข้อเท้าจนเกินช่วงการเคลื่อนไหวที่ปกติทำให้เอ็นยึดข้อต่อถูกยืดออกมากจนเกินไปจึงเกิดการบาดเจ็บขึ้น มีอาการปวดและบวมตามมา หากรุนแรงมากอาจส่งผลให้เอ็นขาดได้

พยาธิสภาพของโรคจะอยู่ที่เอ็นและเนื้อเยื่อรอบๆ ข้อเท้าโดยเฉพาะเส้นเอ็น calcaneofibular ligament มักพบได้บ่อยที่สุด ทางการแพทย์ได้แบ่งความรุนแรงของการบาดเจ็บออกเป็น 3 ระดับ

ระดับที่ 1 คือ เอ็นถูกดึงหรือยืดมากเกินไป ทำให้เอ็นบาดเจ็บแต่เส้นใยของเอ็นไม่ฉีกขาด อาจจะพบเพียงอาการบวมและกดเจ็บบริเวณเอ็นที่ได้รับบาดเจ็บ สามารถเดินลงน้ำหนักได้

ระดับที่ 2 คือ มีการฉีกขาดของเอ็นบางส่วน ทำให้ข้อเท้ามีความมั่นคงลดลง ในกลุ่มนี้จะปวดและบวมค่อนข้างมากและอาจมีเลือดคั่งจนอาจจะทำให้เดินลงน้ำหนักไม่ค่อยได้

ระดับที่ 3 คือ จะมีการฉีกขาดของเอ็นทั้งหมด ทำให้ข้อเท้าสูญเสียความมั่นคง ในกลุ่มนี้จะมีอาการปวดบวมมากและมีเลือดคั่งจนไม่สามารถเดินลงน้ำหนักได้

การรักษาทางกายภาพบำบัด

การรักษาในระยะอักเสบคือมีอาการปวด บวม แดง ร้อน จะใช้การประคบเย็นเพื่อลดอาการอักเสบก่อน จนอาการอักเสบลดลง นักกายภาพบำบัดจะรักษาโดยใช้อัลตร้าซาวด์ (ultrasound) เพื่อลดปวด ลดอักเสบและเร่งกระบวนการซ่อมแซมเนื้อเยื่อส่วนที่ได้รับความเสียหาย จากนั้นนักกายภาพบําบัดจะแนะนําท่าบริหารเพื่อเพิ่มความมั่นคงของข้อเท้าและลดอุบัติการณ์ที่อาจเกิดซํ้า

ข้อควรระวัง

ห้ามประคบร้อนหลังจากเกิดข้อเท้าแพลงในช่วง 24-48 ช.ม.แรกเด็ดขาด เพราะความร้อนจะทําให้บวมมากขึ้น

ผู้ที่เคยมีประวัติข้อเท้าแพลงนั้นมีโอกาสเกิดข้อเท้าแพลงซํ้าได้ง่ายกว่าปกติ เนื่องจากขณะที่เกิดข้อเท้าแพลงนั้นมีเส้นประสาทบางส่วนบริเวณข้อเท้าได้รับความเสียหายจึงทําให้การรับส่งกระแสประสาทช้าลง เป็นเหตุให้มีความรู้สึกว่าข้อเท้าไม่มีความมั่นคงขณะยืนขาเดียว หรือเดินในพื้นที่ที่นุ่ม เช่น ทราย หมอน เบาะนวม เป็นต้น

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เรนโบว์ อโรคายา (Rainbow Arokaya)

Leave a Comment

Start typing and press Enter to search